ภายใต้แผนระยะกลางของบริษัทฯ หรือ Nissan M.O.V.E. 2022 บริษัทฯ คาดว่าจะขายรถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่าหนึ่งล้านคันต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2565 หรือ ค.ศ. 2022 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานที่ให้ความยั่งยืน มร. อังตวน บาร์เตส ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า "ระบบขับเคลื่อนของนิสสันมีอยู่หลายแบบเพื่อตอบสนองให้ตรงความต้องการของลูกค้า ระบบขับเคลื่อนทุกแบบมีพื้นฐานมาจากวิสัยทัศน์ของนิสสันที่มุ่งมอบนวัตกรรมการขับขี่อัตโนมัติให้มากขึ้น ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามากขึ้น และมีระบบเชื่อมต่อต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนผู้คนไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม และนี่คือลักษณะเด่นของนวัตกรรมระบบขับเคลื่อนของนิสสันแต่ละประเภท
ระบบขับเคลื่อนที่ใช้ไฟฟ้า 100%
ด้วยการใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูง 100% พร้อมระบบแบตเตอรี และอินเวอร์เตอร์ โดยระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าของนิสสันหรือ e-Powertrain มีน้ำหนักเบาและขนาดกะทัดรัดเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์สันดาปภายในให้แรงบิดสูงอย่างรวดเร็วแต่นุ่มนวลเพราะมีการสั่นสะเทือนจากมอเตอร์ที่ต่ำมาก ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (e-Powertrain) ที่ไร้มลพิษ (Zero emission) ใช้พลังงานที่น้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน ใช้ชิ้นส่วนในระบบขับเคลื่อนน้อย มีการสึกหรอต่ำ เพราะไม่มีชิ้นส่วนที่ทำงานตลอดเวลา ซึ่งก่อให้เกิดความร้อน และแรงเสียดสีต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนของระบบระบายความร้อน หรือ ระบบสตาร์ท น้ำมันของเหลวต่างๆ วาล์ว เพลา ลูกเบี้ยว และ ลูกสูบ เป็นต้น รถยนต์ นิสสัน ลีฟ (LEAF) และ อี-เอ็นวี 200 (e-NV200) เป็นตัวอย่างของยานยนต์ไฟฟ้า 100% ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนนี้ นิสสัน ลีฟ ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก โดยมียอดขายทั่วโลกกว่า 320,000 คันนับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก นอกจากนี้รถยนต์ไฟฟ้า อี-เอ็นวี 200 ยังถูกจำหน่ายไปมากกว่า 18,000 คัน โดย นิสสันจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ในเร็วๆนี้
ระบบขับเคลื่อน e-POWER (อี-เพาเวอร์)
เทคโนโลยีที่ถือเป็นเอกสิทธิ์ของนิสสัน เปิดตัวในปี พ. ศ. 2560 มีความแตกต่างจาก ระบบขับเคลื่อน ที่ใช้ไฟฟ้า 100% เครื่องยนต์ e-POWERมีส่วนประกอบสองส่วนคือ มอเตอร์ไฟฟ้า และ เครื่องยนต์สันดาปภายในขนาดเล็ก ซึ่งเครื่องยนต์สันดาปภายในจะช่วยผลิตกระแสไฟฟ้า ให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าเมื่อต้องการใช้พลังงาน โดยระบบขับเคลื่อนแบบนี้ไม่ต้องใช้การประจุไฟฟ้าจากสถานีชาร์จภายนอก สำหรับข้อดีของ ระบบขับเคลื่อน e-POWER คือมีการปล่อยก๊าซ CO2 น้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน ระบบขับเคลื่อนอี-เพาเวอร์ ให้ความเงียบมากกว่า มีการสั่นสะเทือนที่น้อยกว่า และไม่ต้องพึ่งพาสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องยนต์ นอกจากนี้ยังมาพร้อมระบบ e-Pedal ที่ผู้ขับขี่สามารถออกรถ เร่ง และลดความเร็ว ได้โดยใช้เพียงแป้นเหยียบเดียวในการขับขี่ ระบบขับเคลื่อน e-POWER ได้ถูกวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ใน นิสสัน โน้ต (Note) และ เซเรนา (Serena) โดยมีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง ดีกว่าเครื่องยนต์แบบเดิมถึง 30% นิสสันยังประกาศอีกว่า จะนำเทคโนโลยี e-POWER นี้บรรจุในรถนิสสันรุ่นยอดนิยม รุ่นอื่นๆ อีกด้วย
ระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด (Conventional Hybrid)
รถยนต์แบบไฮบริดจะมีสองส่วนหลักๆ นั่นก็คือ มอเตอร์ไฟฟ้าและ เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งสองแหล่งพลังงานมาพร้อมกับแบตเตอรี เมื่อมีการใช้งานระบบไฮบริด เครื่องยนต์จะเปลี่ยนโหมดมาเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะที่รถเริ่มเคลื่อนตัวจากหยุดนิ่ง ทั้งนี้การทำงานของพลังงานที่นำมาใช้ในระบบขับเคลื่อนจะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น พลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ สภาพถนน หรือรูปแบบการขับขี่ มอเตอร์ไฟฟ้าในระบบนี้จะทำให้รถมีความเร็วได้ถึงประมาณ 40ไมล์ หรือ ประมาณ 60 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ซึ่งหลังจากนั้น เครื่องยนต์สันดาปภายในจะเข้ามาเสริมการทำงานของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ซึ่งประโยชน์ของระบบขับเคลื่อนนี้ ทำให้มีการใช้เชื้อเพลิงที่ประหยัดขึ้น มีการปล่อยก๊าซ CO2 น้อยกว่าเครื่องยนต์เบนซิน และยังให้ประสิทธิภาพและพละกำลังที่มากขึ้น โดยปัจจุบันระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริดของนิสสันถูกติดตั้งในรถยนต์เอนกประสงค์ รุ่นยอดนิยมอย่างเอ็กซ์เทรล ไฮบริด (X-Trail Hybrid) ซึ่งมีปริมาณการปล่อยมลพิษน้อยกว่าเครื่องยนต์แบบที่ใช้น้ำมันเบนซินทั่วๆไปกว่า 28.8%
เครื่องยนต์เบนซินอัจฉริยะ ประสิทธิภาพสูงที่สามารถแปรเปลี่ยนอัตราของกำลังอัดในกระบอกสูบ (Variable-Compression turbo engine)
เครื่องยนต์เทอร์โบที่สามารถแปรเปลี่ยนอัตราของกำลังอัดในกระบอกสูบ ใหม่จากนิสสัน มีความโดดเด่นด้วยประสิทธิภาพที่มีมากขึ้น ได้รับการเปิดตัวในปีนี้ โดยเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบที่สามารถปรับเปลี่ยนอัตราส่วนของกำลังอัดได้เป็นครั้งแรกของโลก ด้วยการปรับอัตราส่วนของกำลังอัดนี้ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้พละกำลังและประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงได้อย่างดีเยี่ยม เครื่องยนต์ชนิดนี้มีวงจรการเผาไหม้ 2 รูปแบบ ด้วยการเชื่อมต่อระบบอิเลคโทรนิกส์ของ วาล์วที่ปรับเปลี่ยนได้ทำให้เครื่องยนต์สามารถสลับไปมา ระหว่างวงจรจุดระเบิดแบบแอตกินสันและวงจรการเผาไหม้ปกติ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และให้ความเงียบมากกว่าและยังลดการสั่นสะเทือน นอกจากนี้ยังมีระบบที่ใช้การฉีดเชื้อเพลิงแบบ มัลติพอนต์ ไดเร็ค อินเจคชัน (Multi-point direct injection) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เครื่องยนต์สามารถสลับเปลี่ยน ระหว่าง ทั้งสองรอบวงจร โดยใช้ความเร็วเครื่องยนต์ปกติและชุดหัวฉีดทั้งสองชุดสามารถทำงานร่วมกันได้ภายใต้การขับขี่ที่มีสมรรถนะเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี รถยนต์นิสสัน อัลติมา (Altima) รุ่นใหม่ ได้รับการติดตั้งเครื่องยนต์สุดล้ำสมัยนี้ นิสสันใช้เวลากว่า 20 ปีในการพัฒนาระบบขับเคลื่อนดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของการออกแบบและพัฒนาเครื่องยนต์แบบสันดาปภายในประสิทธิภาพสูงอย่างแท้จริง