มร. มิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ มร. เคอิจิ ยามาโมโต เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คอนเน็คเต็ด ร่วมกับ รศ.ดร. บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย พร้อมด้วย ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ คุณธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เปิดตัวการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กร่วมกันภายใต้โครงการ “CU TOYOTA Ha:mo” ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 19 ธันวาคม 2560
โตโยต้ามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์เพื่อสังคมไทยนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท และเรานำความก้าวหน้าในด้านต่างๆเข้ามาในประเทศ จนกลายเป็นผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรมและประสบความสำเร็จในการผลิตยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้คน โตโยต้ามองเห็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาระบบส่งกำลังรถยนต์ทางเลือก รถยนต์ไร้คนขับ ตลอดจนแนวคิดเกี่ยวกับระบบการเดินทางที่รวบรวมเอาบริการทุกอย่างในด้านการขนส่งมาไว้ในโลกดิจิทัล (mobility-as-a-service) รวมถึงวิทยาการหุ่นยนต์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งนวัตกรรมอันก้าวหน้าเพื่อการคมนาคมของประชาชนซึ่งเราเชื่อว่าไม่จำกัดอยู่เพียงแค่รถยนต์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการเอาชนะอุปสรรคความท้าทายต่างๆ เพื่อสร้างความฝันให้กลายเป็นความจริง ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของโตโยต้า เราสามารถเอาชนะขีดจำกัดต่างๆ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จให้ได้ ที่สำคัญเรายังมุ่งมั่นที่จะท้าทายตัวเองในการทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้มาโดยตลอด แม้กระทั่งทุกวันนี้ที่อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแต่โตโยต้าก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์รถยนต์ที่ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มร. เคอิจิ ยามาโมโต กล่าวว่า “ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านเครื่องยนต์และนวัตกรรมการขับขี่แบบไร้คนขับ ด้วยเหตุนี้เอง โตโยต้าจึงได้ประกาศแคมเปญ ‘Start Your Impossible’ เพื่อจุดประกายในความท้าทายให้เกิดการพัฒนาด้านการสัญจรเพื่อคุณและเพื่อคนทุกคน โดยเรามุ่งที่จะขับเคลื่อนสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยการผลิตรถยนต์และคิดค้นพัฒนาแนวทางต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมสำหรับประชาชนและการขนส่งสินค้าต่างๆ ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“ Ha:mo ” ทางเลือกใหม่ในการสัญจร
ด้วยระบบการคมนาคมสำหรับยุคหน้าอย่าง Ha:mo โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาในการเดินทางด้วยการเชื่อมต่อการคมนาคมโดยรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ากับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเพื่อให้การเดินทางสัญจรเป็นไปอย่างราบรื่นและปราศจากอุปสรรคต่างๆ โตโยต้าเชื่อว่าทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการคมนาคมได้คือการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กพิเศษให้ผู้คนสามารถใช้ร่วมกันเพื่อเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระโดยสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้ ระบบการเดินทางแบบ Ha:mo จึงถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น (ในโตโยต้าซิตี้ โตเกียว โอกายาม่า และโอกินาว่า) ประเทศฝรั่งเศส (ในเมืองเกรโนเบิล) และล่าสุด ณ วันนี้ คือที่กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่แรกที่โตโยต้าได้นำเอานวัตกรรมนี้มาใช้
มร. มิจิโนบุ ซึงาตะ กล่าวว่า “โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เดินหน้าเติบโตเคียงคู่สังคมไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีจำนวนรถยนต์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ดังนั้นจึงมีการคิดค้นนวัตกรรมรถ Ha:mo นี้เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางสัญจรจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างอิสระเสรีและสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด”
มร. เคอิจิ ยามาโมโต กล่าวว่า “Ha:mo หมายถึง เครือข่ายการสัญจรที่สอดประสานกัน (Harmonious Mobility Network) เป็นอีกหนึ่งแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาการคมนาคมที่โตโยต้าพัฒนาขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการรูปแบบการคมนาคมส่วนบุคคลเข้ากับการขนส่งมวลชน เช่น รถไฟและเครือข่ายรถบัสโดยสาร ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งหลายประการ ซึ่งส่งผลให้ผู้คนมากมายมีคุณภาพชีวิตลดลง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในวันนี้โตโยต้าจึงภูมิใจที่จะเชิญชวนให้ประชาชนมาใช้บริการ CU TOYOTA Ha:mo ซึ่งเป็นความตั้งใจของเราที่จะส่งเสริมให้สังคมพัฒนาอย่างยั่งยืนและผลักดันให้ผู้คนในประเทศหันมาเปลี่ยนวิถีชีวิตกัน”
ความท้ายทายของโครงการ CU TOYOTA Ha:mo ในอนาคต
โครงการนี้วางแผนที่จะให้ “CU TOYOTA Ha:mo” เป็นเวทีของนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation Platform) เพื่อการพัฒนาสังคมของการสัญจรในอนาคตร่วมกันด้วยการส่งเสริมให้ผู้คนและสังคมปรับตัวเข้ากับกับนวัตกรรมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกันอันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาสังคม การเปิดโอกาสให้ทั้งบริษัทที่สนใจ นิสิตนักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ และองค์กรต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ช่วยให้สามารถรวบรวมแนวคิดต่างๆ คัดเลือกแนวทาง พัฒนาแผนโครงการ ตลอดจนทดลองใช้ในพื้นที่จริง อันนำไปสู่สังเคราะห์แนวทางการแก้ไขเพื่อคนไทยในอนาคตที่จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน
รศ.ดร. บุญไชย สถิตมั่นในธรรม กล่าวว่า “เรามีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศที่อยู่ในระดับโลก โดยสร้างความรู้และนวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เราก่อตั้งโครงการ ’ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ (CU Innovation Hub) เมื่อปีที่แล้วเพื่อเป็นเวทีสำหรับพัฒนาทั้งนวัตกรและนวัตกรรม อันเป็นการปูทางเพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศที่มีศักยภาพเชิงนวัตกรรมอยู่ในระดับโลก พร้อมเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนไทย นอกจากนี้ เรายังพัฒนาโครงการใหญ่ที่ดำเนินการภายในบริเวณมหาวิทยาลัยของเรา ชื่อโครงการ ‘เมืองจุฬา อัจฉริยะ’ (CU Smart City) เพื่อเป็นต้นแบบของกรุงเทพฯ ในอนาคตในหลากหลายมิติ เช่น เรื่องพลังงาน การเดินทางสัญจร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้น เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะจับมือร่วมกับโตโยต้าในโครงการนี้ ทั้งยังพร้อมสนับสนุนโครงการการพัฒนาสังคมของการสัญจรในอนาคตร่วมกัน ภายใต้แนวคิด ‘เวทีนวัตกรรมแบบเปิด’ ครับ”
รูปแบบการให้บริการและความคาดหวัง
โครงการ “CU TOYOTA Ha:mo” ถือกำเนิดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในโอกาสครบรอบ 55 ปีของการก่อตั้งโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย โดยจะมีการทดลองระบบการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กพิเศษร่วมกันเพื่อวิ่งในระยะสั้นๆ ภายในพื้นที่โดยรอบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนจากต้นทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้ใช้งาน
คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ กล่าวว่า “ในเบื้องต้น การศึกษาระบบ Car Sharing แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจะเรียกว่าช่วงพัฒนา ใช้เวลา 2 ปี ซึ่งมีรถให้บริการทั้งหมด 10 คัน และจะเพิ่มจำนวนรถอีก 20 คัน ในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 30 คัน หลังเสร็จสิ้นระยะแรก ทางโครงการจะทำการทบทวนและสรุปผล เพื่อเข้าสู่ระยะที่สองในรูปแบบธุรกิจยั่งยืนอย่างเต็มตัว โดยจะเชิญชวนให้ผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมลงทุน เพื่อขยายการให้บริการออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นๆ
สำหรับพื้นที่ในการให้บริการในเบื้องต้น จะครอบคลุมบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสองฝั่ง โดยเตรียมสถานีจอดรถไว้ทั้งหมด 12 สถานี พร้อมทั้งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10 สถานี และมีจำนวนช่องจอดรถให้บริการทั้งหมด 33 ช่องจอด ทำให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการในการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า ทั้ง MRT ที่สามย่าน, BTS ที่สยามสแควร์และสนามกีฬาแห่งชาติ รวมถึงรถโดยสารประจำทางหลายสาย
กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการคือนิสิต อาจารย์ บุคลากรและประชาชนทั่วไป ผู้ใช้บริการจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของโครงการผ่านระบบออนไลน์หรือมาสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานโครงการ ณ ชั้น1 อาคารมหิตลาธิเบศรแห่งนี้ โดยมีค่าสมาชิก 100 บาท ซึ่งโครงการจะคืนกลับในรูปแบบคะแนนสะสม สามารถนำมาแลกใช้บริการได้ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม เก็บค่าบริการที่ 30 บาทต่อครั้ง สามารถใช้รถได้ 20 นาที เกินจากนั้น คิดค่าบริการเพิ่มนาทีละ 2 บาท โดยชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในรูปแบบบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของทุกธนาคารโดยผู้ใช้สามารถจองใช้งานและชำระค่าใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สามารถสอบถามรายละเอียดได้ทางคอลเซ็นเตอร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-305-6733
นอกจากนี้โครงการยังได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลสู่สาธารณะผ่านทาง www.cutoyotahamo.com และช่องทางเฟซบุ๊ก “cutoyotahamo” จำนวนผู้สมัครเป็นสมาชิกในโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 300 คน จำนวนการใช้งานสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่เริ่มเปิดให้บริการคิดเป็นค่าเฉลี่ย 45 ครั้งต่อวัน เกินเป้าหมายที่กำหนด 40 ครั้ง/วัน โดยในแต่ละวัน มีความต้องการใช้งานหนาแน่นในช่วงเวลา 11.00 – 13.00 น. และ 15.00 – 17.00 น. ทางโครงการจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้วางแผนการบริหารจัดการเพื่อเคลื่อนย้ายรถไปยังสถานีต่างๆ ให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการตามช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณพลังแห่งความร่วมมือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากผู้ให้การสนับสนุนทั้ง 26 บริษัท ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการนี้ ทางโครงการมีแผนนำงบประมาณที่ได้ ไปสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการ EV Car Sharing และอีกส่วนจะนำมาใช้ใน Open Platform Innovation นำสู่โครงการวิจัยพัฒนาในด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสังคม